ประวัติโครงการก่อสร้าง

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ช่วง กม.38+500.000 - กม.44+266.833 (ตอน 12)

ความเป็นมาของโครงการฯ
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (ตอน 12)
ช่วง กม.38+500.000 – กม.44+266.833
ภาคตะวันตกของไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงมากในการพัฒนา เป็นทั้งแหล่งเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, การค้า, การลงทุน และการท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมทั้งมีพรมแดนเชื่อมต่อกับสหภาพพม่า ซึ่งมีกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งการค้าชายแดน และการขนส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก ผ่านท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย แต่ทุกวันนี้การคมนาคมขนส่งระหว่างศูนย์กลางระหว่างประเทศ อย่างกรุงเทพมหานคร กับภาคตะวันตกนั้น มีเส้นทางหลักเพียงสายเดียว คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษม ต่อด้วยทางหหลวงแผ่นดินหมาย เลข 323 ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งในอนาคตหากความต้องการเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้เส้นทางที่มีอยู่เดิมเพียงสายเดียวนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการจราจรและทำให้เกิดการจราจรติดขัด เป็นอุปสรรคในการเดินทางและคมนาคมในการขนส่งในภาพรวม ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าว กรมทางหลวงจึงวางแผนเตรียมเส้นทางสายใหม่เพื่อลองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้มอย่างต่อเนื่อง นั้นคือโครงการทางหลวงพิเศษ หมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่ได้รับการอนุมัติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2540
แนวเส้นทางของโครงการฯ เริ่มจาก อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ผ่านพื้นที่ อำเภอพุทธมณฑล อำเภอนครชัยศรี อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และมาสิ้นสุดโครงการฯ ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร
ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบโครงการทางหลวงพิเศษที่มีอยู่ปัจจุบัน คือ
- ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกฝังตะวันตก)
- โครงการทางหลวงพิเศษ หมายเลข 8 สายนครปฐม – ชะอำ
- โครงการทางหลวงพิเศษ หมายเลข 91 สายปากท่อ – บางปะกง
- โครงการทางหลวงสายวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ในอนาคต
เส้นทางนี้ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร จากจุดเริ่มต้นโครงการฯ ที่อำเภอบางใหญ่ จนถึงกิโลเมตร 46+000.000 ก่อนถึงอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นออกแบบเป็นขนาด 4 จราจร จึงถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ที่อำเภอท่าม่วง โดยตลอดแนวเส้นทางสามารถขยายได้ถึง 8 ช่องจราจร โดยไม่ต้องเวนคืนเพิ่ม เพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ผู้ใช้ทางสามารถเข้าสู่ทางหลวงพิเศษนี้ได้ โดยมีทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง สำหรับเชื่อมต่อทางหลวงสายสำคัญเข้ากับเส้นทางโครงการฯ ได้แก่
- ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ (เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9)
- ทางแยกต่างระดับนครชัยศรี (เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3233)
- ชุมทางต่างระดับนครชัยศรี (เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษ หมายเลข 91 และทางหลวงพิเศษ หมายเลข 8)
- ทางแยกต่างระดับนครปฐมฝังตะวันออก (เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3036)
- ทางแยกต่างระดับนครปฐมฝังตะวันตก (เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 321)
- ทางแยกต่างระดับท่ามะกา (เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3394)
- ทางแยกต่างระดับท่าม่วง (เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3081)
- ทางแยกต่างระดับกาญจนบุรี (เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 324)
ส่วนการควบคุมการ เข้า – ออก ของโครงการฯ จะจัดให้มีด่านเก็บค่าผ่านทางในตำแหน่งทางในตำแหน่งทางแยก 7 แห่ง ได้แก่
- ด่านบางใหญ่
- ด่านนครชัยศรี
- ด่านนครปฐมฝังตะวันออก
- ด่านนครปฐมฝังตะวันตก
- ด่านท่ามะกา
- ด่านท่าม่วง
- ด่านกาญจนบุรี
โดยจะใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบปิด คิดค่าผ่านตามระบบทาง ซึ่งจะมีความเหมาะสมและความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ทาง
นอกจากนี้จะจัดให้มีสถานีบริการทางหลวง 2 แห่ง
- บริเวณกิโลเมตรที่ 19+000.000 อำเภอนครชัยศรี
- บริเวณกิโลเมตรที่ 47+000.000 อำเภอเมืองนครปฐม
รวมทั้งที่พักริมทางหลวง 1 แห่ง บริเวณกิโลเมตร 71+000.000 ในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ทาง
ยังมีการออกแบบทางลอดใต้ทางหลวงพิเศษ รวมถึงสะพานทางข้าม สะพานยกข้ามถนนท้องถิ่นเดิม และทางบริการในตำแหน่งที่เหมาะสมและมีจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้ชุมชนทั้งสองข้างทาง สามารถเดินผ่านถึงกันได้โดยสะดวก
ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแนวเส้นทาง และองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการฯ ซึ่งกรมทางหลวงได้นำมาพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และผลกระทบที่น้อยที่สุด



ลิขสิทธิ์ © 2016 สำนักก่อสร้างทางที่ 1 กรมทางหลวง
อาคารเฉลียววัชรพุกก์ ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400