ประวัติโครงการก่อสร้าง

โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 สายทางบริการด้านนอกของทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านซ้ายทาง ตอน 1

ถนนกาญจนาภิเษก หรือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีระยะทางส่วนใหญ่เป็น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เป็นถนนสายสำคัญที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึงผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย มีระยะทางตลอดทั้งสายรวม 168 กิโลเมตร
ถนนสายนี้เดิมเรียกกันว่า ถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก มีเส้นทางเริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 2 ตัดผ่านฝั่งธนบุรีเข้าสู่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี ไปสิ้นสุดที่ถนนพหลโยธิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรม- ราชานุญาตให้เชิญชื่อ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 มาเป็นชื่อเรียกถนนสายนี้ คือ ถนนกาญจนาภิเษก และเดิมกรมทางหลวงได้กำหนดเส้นทางสายนี้ให้เป็น ทางหลวงหมายเลข 37 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนหมายเลขทางหลวงของถนนสายนี้ให้เป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตามแผนพัฒนาระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ในปี พ.ศ. 2539 หลังจากนั้นจึงได้มีการสร้างถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกและด้านใต้ขึ้นตามมาเป็นตอน ๆ
ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก (บางปะอิน–บางบัวทอง–บางขุนเทียน) เป็นถนนส่วนที่สร้างขึ้นก่อนด้านอื่น ๆ มีระยะทางรวม 68 กิโลเมตร ประกอบด้วยช่วงต่าง ๆ ได้แก่ ช่วงบางปะอิน–บางบัวทอง เป็นทางขนาด 4–6 ช่องจราจร ระยะทาง 44 กิโลเมตร และช่วงบางบัวทอง−บางขุนเทียน เป็นทางขนาด 10–12 ช่องจราจร ระยะทาง 24 กิโลเมตร สัญลักษณ์ทางหลวงแสดงด้วยป้ายหมายเลข 9 พื้นหลังสีเขียว เนื่องจากมีลักษณะของถนนเป็นทางหลวงพิเศษแต่ไม่มีการเก็บค่าผ่านทาง
ในเขตจังหวัดนนทบุรี เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 30+600 บริเวณคลองมหาสวัสดิ์ ผ่านตำบลปลายบางและตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย ตัดถนนนครอินทร์ที่กิโลเมตรที่ 33 ข้ามคลองบางนาเข้าเขตอำเภอบางใหญ่ ข้ามคลองบางใหญ่ จากนั้นตัดกับถนนรัตนาธิเบศร์ที่กิโลเมตรที่ 39 ก่อนเข้าสู่พื้นที่อำเภอบางบัวทอง ตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อยที่กิโลเมตรที่ 44 และตัดกับถนนบางบัวทอง–สุพรรณบุรี และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ที่กิโลเมตรที่ 46 ข้ามคลองลำโพเข้าสู่เขตอำเภอปากเกร็ด จนถึงกิโลเมตรที่ 51+070 (สะพานข้ามคลองพระอุดม) รวมระยะทางในเขตนี้ประมาณ 22 กิโลเมตร
ในเขตจังหวัดปทุมธานี เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 51+070 ที่ตำบลคลองพระอุดม ผ่านอำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอเมืองปทุมธานี ข้ามคลองบางโพธิ์ใต้ คลองบางหลวง ตัดถนนปทุมธานี–บางเลน ที่กิโลเมตรที่ 59 ข้ามคลองบางโพธิ์เหนือเข้าสู่เขตอำเภอสามโคก ข้ามคลองบางเตย คลองควาย ตัดกับถนนสามโคก–เสนาที่กิโลเมตรที่ 67 จนถึงกิโลเมตรที่ 71+570 (สะพานเชียงรากใกล้วัดกร่าง)
กาญจนาภิเษกด้านตะวันตกในช่วงบางขุนเทียนถึงบางบัวทองเป็นช่วงที่ถนนผ่านเขตชุมชน จึงมีการก่อสร้างทางคู่ขนานทั้งด้านนอก (ด้านตะวันตก) และด้านใน (ด้านตะวันออก) ซึ่งปัจจุบันได้รับการกำหนดเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3901 และ 3902 ตามลำดับ และในอนาคต กรมทางหลวงมีโครงการปรับปรุงถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันตก โดยปรับปรุงเส้นทางเป็นทางหลวงพิเศษแบบควบคุมการเข้า-ออก ในช่วงบางขุนเทียน–บางบัวทองจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับเหนือถนนกาญจนาภิเษก ส่วนช่วงบางบัวทอง–บางปะอินจะก่อสร้างเป็นทางระดับดิน โดยนำทางหลวงเดิมมาพัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษเต็มรูปแบบ มีขนาด 4–6 ช่องจราจร และมีทางบริการชุมชน
ตามอนุมัติกรมทางหลวง ให้สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ออกประกาศเรียกประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 สายทางบริการด้านนอกของทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านซ้ายทาง ตอน 1 ด้วยวิธีประกวดราคาระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e- bidding) ระหว่าง กม.50+988.000 LT. – กม.56+700.000 LT. ระยะทางยาวประมาณ 5.712 กิโลเมตร ตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) กำหนดมาตรฐานทางชั้นพิเศษ โดยก่อสร้างทางคู่ขนาน ด้านซ้ายทาง ขนาด 3 ช่องจราจร ผิวทางเป็น Concrete Pavement (JRCP) หนา 28 เซนติเมตร ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร และแบ่งช่องจราจรทางหลักกับทางคู่ขนานด้วย Barrier Type I ดังนั้นความกว้างถนนทั้งหมดเมื่อสร้างเสร็จ 2.50+3.50+3.50+3.50+1.50 = 14.50 เมตร รวมงานไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวง โครงการก่อสร้างนี้อยู่ในท้องที่อำเภอบางบัวทอง, อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี กำหนดเวลาทำการ 840 วัน นับถัดจากวันลงนามสัญญา
สำหรับการประเมินราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางสายนี้ กรมทางหลวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ คำนวณราคากลางดังนี้
1. นายอำนวยพร ศรีอิสรานุสรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ประธานกรรมการ
2. นายสว่าง บูรณธนานุกิจ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักก่อสร้างทางที่ 1 กรรมการ
3. นายจำรัส ดำรงค์พานิช วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักก่อสร้างทางที่ 1 กรรมการ
4. นายพิชากร ศรีจันทร์ทอง รก. วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักสำรวจและออกแบบ กรรมการ
5. นายวีระสิทธิ์ ศรีสมัย วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักก่อสร้างทางที่ 1 กรรมการ
คณะกรรมการคำนวณราคากลาง ได้กำหนดราคากลางไว้เป็นเงินทั้งสิ้น 699,609,667.70 บาท (เงินหกร้อยเก้าสิบเก้าล้านหกแสนเก้าพันหกร้อยหกสิบเจ็ดบาทเจ็ดสิบสตางค์)
สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามประกาศ เลขที่ สท.1/24/2563 ลงวันที่ 20 เมษายน 2563 กำหนดซื้อเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 20 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2563 กำหนดยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ระหว่างเวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น.
ผลการประกวดราคาจ้างฯ ปรากฏว่า บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (ให้บริการ) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน 677,383,500.00 บาท ราคาที่ประมูลต่ำกว่าราคากลาง (699,609,667.70 – 677,383,500.00) = 22,226,167.70 บาท หรือ 3.18 %

หมายเหตุ บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (ให้บริการ) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีวิล คอนสตรัคชั่น
เซอร์วิสเซส แอนด์ โปรดักส์ จำกัด
ลิขสิทธิ์ © 2016 สำนักก่อสร้างทางที่ 1 กรมทางหลวง
อาคารเฉลียววัชรพุกก์ ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400