ประวัติโครงการก่อสร้าง

โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 415 สาย พังงา-อ.บ้านตาขุน ตอน บ.บางคราม-บ.ปากน้ำ ตอน 1

ทางหลวงหมายเลข 415 สาย พังงา-อ.บ้านตาขุน ระหว่าง กม.0+000.000-กม.48+161.125 เริ่มต้นที่ทางหลวงหมายเลข 4 กม.163+500.000 บ้านนาเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ สิ้นสุดที่จุดบรรจบทางหลวงหมายเลข 401 กม.64+500.000 บ้านวังใหม่ อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมเป็นทางเกวียนที่ราษฎร์ใช้สัญจรและเอกชนใช้ประกอบอาชีพในการทำไม้ อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงการทางกระบี่ และแขวงการทางสุราษฎร์ธานี
ปี 2523 ศูนย์สร้างทางสุราษฎร์ธานี ได้รับงบประมาณก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคง โดยก่อสร้าง
เป็นทางลูกรังมาตรฐานคันทางกว้าง 9.00 เมตร และลาดยางกว้าง 5.00 เมตร บริเวณย่านชุมชนเป็นตอนๆ ในปี 2527 แขวงการทางกระบี่ ได้รับมอบเป็นทางบำรุงตลอดเส้นทางและได้ดำเนินการลาดยางย่านชุมชน เป็นตอนๆ ต่อมา แขวงฯ สุราษฎร์ธานี ได้รับมอบจากศูนย์เครื่องมือกลสุราษฎร์ธานี มาดำเนินการต่อในปี 2527 และกองได้รับมอบเป็นทางบำรุง
ปี 2534 กรมทางหลวง ได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นทางลาดยางตลอดเส้นทาง โดยบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริงจำกัด เป็นผู้รับจ้าง เป็นโครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาทางหลวงที่มีผิวจราจรลูกรัง เป็นทางลาดยางมาตรฐาน S2 (6.5/11) ผิวจราจรลาดยางแบบ Asphalt Concrete หนา 5.00 เซนติเมตร กว้าง 6.50 เมตร ไหล่ทางลาดยางแบบ Single Surface Treatment กว้างข้างละ 2.25 เมตร และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณทางแยก แล้วเสร็จเมื่อเดือน ธันวาคม 2536
กรมทางหลวงได้รับงบประมาณปี 2563 เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 415 สาย พังงา-อ.บ้านตาขุน สาย บ.บางคราม-บ.ปากน้ำ ตอน 1 ระหว่าง กม.21+381.000-กม.29+540.000 ระยะทางยาวประมาณ 8.159 กิโลเมตร เพื่อเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน กิจกรรมก่อสร้างทางหลวงเชื่อมต่อระบบขนส่ง มาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) โดยการบูรณะปรับปรุงแนวทางเดิมเพิ่มมาตรฐานเป็นขนาด 4 ช่องจราจร และก่อสร้างแนวทางใหม่ เพื่อรองรับปริมาณจราจร ทั้งปัจจุบันและอนาคตที่แนวโน้มสูงขึ้น เป็นเส้นทางรองรับการจราจรที่เชื่อมระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช กับจังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต โดยย่นระยะทางจากเส้นทางเดิมประมาณ 47.000 กิโลเมตร ไม่ต้องขึ้นเขา ทำให้ผู้ใช้เส้นทางลดเวลาในการเดินทาง การคมนาคมสะดวกปลอดภัย รวมถึงการขนส่งสินค้าและบริการ สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยว
การก่อสร้างเส้นทางนี้ จัดว่าเป็นโครงการฯ ที่ได้รับการตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจสูงมาก และได้ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท ศิริไพบูลย์ พัฒนาการ จำกัด ในวงเงิน 325,993,000.00 บาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 540 วัน
ลิขสิทธิ์ © 2016 สำนักก่อสร้างทางที่ 1 กรมทางหลวง
อาคารเฉลียววัชรพุกก์ ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400